ถ้าพูดถึง John Stephen Akhwari ใน 100 คน นอกจากคนในวงการกีฬาโอลิมปิคเพียง 1 คนแล้ว อีก 99 คน น่าจะไม่รู้จักเขาเลย ว่าเขาเป็นใคร? มาจากที่ใด สำัคัญอย่างไร? มีดีอะไร? ที่จะคู่ควรให้คนกล่าวถึง
ย้อนหลังไป ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค วันที่ 20 ตุลาคม 1968 ที่กรุงแม๊กซิโก ในครั้งนั้น กล่าวได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จักเขาJohn Stephen Akhwari เรื่องของเขาได้รับความสนใจโด่งดังไปทั่วโลก แต่ไม่ใช่ในฐานะนักกีฬาผู้มีความสามารถยอดเยี่ยมใดๆ ตรงกันข้ามในการแข่งขันครั้งนั้น เขาไม่ได้รับเหรียญรางวัลใดๆแม้แต่เหรียญเดียวด้วยซ้ำ แต่ชื่อของเขากลับเป็นที่รู้จักและได้รับการยกย่องยิ่งกว่านักกีฬารางวัลเหรียญทอง เงิน ทองแดง ทุกๆคนในปีนั้นเสียอีก ต่อมา เขาก็ได้รับเชิญให้ไปเป็นนักกีฬาผู้ทรงเกียรติในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และล่าสุดเรื่องราวของเขาก็มาปรากฏอีกครั้งหนึ่ง ภาพยนต์ของเพลงที่ใช้ประกอบในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา
โอลิมปิคที่กรุงปักกิ่งในปี 2008
John Stephen Akhwari เป็นเพียงนักกีฬาวิ่งแข่งขันมาราธอนระยะ 40 กิโลเมตร ตัวแทนทีมชาติแทนซาเนีย ในช่วงเริ่มต้นของการแข่งขัน เขาประสบอุบัติเหตุ หกล้มและบาดเจ็บ มีบาดแผลฉีกที่บริเวณหัวเข่า มีเลือดไหลเป็นทาง และเจ็บปวดที่หัวเข่าอย่างมาก ในสภาพนั้นเขาควรจะยอมแพ้และถอนตัวออกจากการแข่งขัน ซึ่งก็คงไม่มีใครกล่าวว่าอะไรเขา แต่ Akhwari ตัดสินใจวิ่งแข่งขันต่อไป ทั้งๆที่ขากระโผลกกระเผลก แม้แต่จะเดินก็ยังไม่ค่อยถนัด และยังเหลือระยะทางอีกหลายสิบกิโลเมตร
ตอนนั้นเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว เขากึ่งเดิน กึ่งวิ่งไปตลอดระยะทาง ใบหน้าแสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดของบาดแผลอย่างเห็นได้ชัด แต่ในที่สุดเขาก็วิ่ง(กระโผลกกระเผลกมากว่า)เข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้ายของนักวิ่งมาราธอน เป็นลำดับที่ 57 จาก 74 คน เพราะนักกีฬา 17 คนขอถอนตัวจากการแข่งขัน โดยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ Akhwari เข้าเส้นชัยในสภาพที่หัวเข่าผูกผ้าพันแผลเอาไว้ และเป็นเวลาหลังจากที่มีการประกาศให้รางวัลเหรียญทองกับนักกีฬาวิ่งมาราธอน ที่วิ่งเข้าเส้นชัยคนแรกไปแล้วเกือบ 2 ชั่วโมง ผู้ชมในสนามกีฬาขณะนั้นก็ยังอยู่กันนับพันคน ทั้งๆที่ปกติแล้วทุกคนควรจะเดินทางกลับบ้านไปนานแล้ว แต่พวกเขากลับยังอยู่ ให้กำลังใจกับ Akhwari อย่างใจจดใจจ่อและเอาใจช่วย เมื่อ Akhwari ปรากฏตัวเข้ามาในสนามในระยะสุดท้ายของการแข่งขันเพื่อวิ่งเข้าเส้นชัยนั้น แต่ละย่างก้าวของเขาดูเชื่องช้า ยาวนาน ผู้คนทั้งสนามส่งเสียงเชียร์และปรบมือให้กำลังใจกับ Akhwari จนกระทั่ง Akhwari วิ่งเข้าเส้นชัยได้สำเร็จ เขาก็ล้มลงในอ้อมกอดหมอและพยาบาลที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว
หลังการแข่งขันในวันต่อมา นักข่าวไปสัมภาษณ์ Akhwari ว่า“ทำไม..คุณถึงยังวิ่งแข่งขันต่อไป ทั้งๆที่บาดเจ็บขนาดนี้?”
เขาตอบว่า “ประเทศของผม(แทนซาเนีย) ส่งผมมา 5,000 ไมล์ มาที่กรุงแม๊กซิโกนี่ ไม่ใช่เพียงแต่
ให้ผมได้ิเริ่มต้นวิ่งในการแข่งขัน แต่ส่งผมมา 5,000 ไมล์ เพื่อให้ผมวิ่งให้เข้าเส้นชัยสุดท้ายให้ได้ครับ”
เรื่องของ John Stephen Akhwari เหมือนการเดินทางในชีวิตของคนเรา บางครั้งก็ต้องเจอปัญหาอุปสรรคแสนสาหัส แต่สิ่งเดียวที่ยังทำให้ยืนหยัดอยู่ได้ จนกระทั่งสามารถก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคใดๆไปได้สำเร็จ คือ “ความหวัง” ดังนั้น “เป็นธรรมดาที่คนเรานั้นจะท้อแท้ได้..บางครั้งก็ผิดหวังได้...แต่ต้องไม่ยอมสิ้นหวังเป็นอันขาด” นะครับ
เป็นแบบอย่างที่ดีมากค่ะขอชื่นชมในความอดทน
ตอบลบ