เด็กหญิงน้อยคนหนึ่ง ถามชายชราที่ดูแลสวนดอกไม้ว่า
“คุณลุงขา ทำไมดอกไม้ถึงมีหลายสี”
ชายชราผู้ดูแลสวนดอกไม้ตอบว่า
“แม่หนูน้อย คนเรายังมีสูงมีต่ำไม่เท่าเทียม นิ้วมือของคนเราก็ยาวไม่เท่ากัน ดอกไม้ก็ไม่ต่างจากคนหรอกจ๊ะหนู”
“แล้วทำไมดอกไม้จึงสวยงาม คุณลุงตอบได้ไหมคะ” เด็กหญิงน้อยซักถามต่อ
ชายชราผู้ดูแลสวนดอกไม้ยิ้มนิดหนึ่งก่อนจะตอบว่า
“..ที่งามนั้นมิใช่ดอกไม้หรอกแม่หนูน้อย ความงามมาจากความรู้สึกของหนู ในขณะที่หนูมองมันต่างหาก ความงามของดอกไม้จึงไม่ได้อยู่ที่ตัวดอกไม้ หากแต่อยู่ในตัวของหนูเองต่างหาก ถ้าหากคนเราพูดภาษากับสัตว์อื่นๆได้ สัตว์ต่างๆ คงจะบอกกับเราว่า ความงามของดอกไม้ที่มองเห็นนี่ ไม่เห็นจะงามตรงไหนเลย มนุษย์นี้ช่างโง่เขลาจริง ดอกไม้ก็เป็นเพียงแค่พืชต้นหนึ่งเท่านั้น”
แง่คิดจากนิทานเรื่องนี้ คนเรานั้นมีความแตกต่างกันทั้งพันธุกรรมที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและสภาพแวดล้อมที่เจริญเติบโตมา ดังนั้นการที่คนอื่นคิดหรือทำอะไรไม่เหมือนกันกับเรานั้น ไม่ใช่ความผิดของเขาหรือของเรา เพียงแต่ว่าคิดต่างกัน จึงทำให้ทำอะไรต่างกัน ในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถกำจัดความแตกต่างของคนออกไปได้ ตรงกันข้าม คนเราต้องทำงานร่วมกัน อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างนั้น ความงามของดอกไม้เป็นเพียงสิ่งสมมติ ความงามภายในจิตใจของคนเราต่างหากจึงจะเป็นของแท้ ที่ตัดสินความงองามของดอกไม้ เพราะว่าถ้าหากจิตใจภายในของเราหมองมัว หม่นหมองเสียแล้ว ต่อให้มีดอกไม้ที่สวยงามที่สุดในโลกอยู่ตรงหน้า ก็ยังมองไม่เห็นความงดงามของดอกไม้ได้อยู่ดี
“จิตใจงามเป็นสวนแห่งมวลพฤกษ์
ความคิดนึกงามเป็นเช่นรากขวัญ
วจีงามเป็นดอกไม้ในสีสัน
กระทำดีคือผลพันธ์อันอุดม”
ดังนั้น คิดดี พูดดี และทำดีกันเถอะนะครับ
คุณเป็น นักเขียนที่ยอดเยี่ยมขอบคุณสำหรับการแบ่งปันกับเรา
ตอบลบ