วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

ต้นไม้ปัญหา


ชายคนหนึ่ง มีอาชีพเป็นช่างไม้และรับจ้างซ่อมบ้าน ในทุกๆวันเขาจะออกตระเวนไปซ่อมบ้านตามสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งวันหนึ่งก็เกิดปัญหาขึ้น เลื่อยไฟฟ้าที่ใช้อยู่เป็นประจำเกิดมีปัญหา ไม่ทำงาน สว่านที่เคยใช้ก็เกิดลัดวงจร รถยนต์คู่ชีพที่ใช้เป็นพาหนะประจำก็เกิดมีปัญหา สตาร์ทไม่ติด ทุกอย่างดูเลวร้ายไปหมด เขารู้สึกหงุดหงิด หัวเสียเป็นอย่างมาก จนตวาดเสียงดังเอากลับลูกน้องและผู้ที่เขาเกี่ยวข้องด้วยในวันนั้น ในสุดท้ายในวันนั้นก็ไม่อาจจะทำอะไรได้เลย ผู้เป็นนายจ้างใจดี รู้สึกเห็นใจจึงอาสาพาไปส่งถึงที่บ้าน

ในขณะที่เดินทางกลับบ้าน บรรยากาศในรถก็ดูอึมครึมเงียบเหงา นายจ้างใจดี พยายามจะชวนคุยและปลอบใจ แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ในที่สุดนายจ้างใจดีก็ต้องเงียบเสียงลงตามไปด้วย ต่างคนก็ต่างนั่งนิ่งกันไปทั้งสองฝ่าย

จนกระทั่งมาถึงบ้านของช่างไม้ ช่างไม้ก็เอ่ยเชิญนายจ้างใจดีลงไปรู้จักกับคนในครอบครัวของเขา ในระหว่างระยะทางเดินจากรั้วถึงบ้านนั้น มีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ที่หน้าบ้าน ช่างไม้ก้าวเข้าไปหยุดที่ใต้ต้นไม้ แล้วเอามือเหนี่ยวกิ่งต้นไม้กิ่งหนึ่งลงมา พร้อมกับทำท่าแขวนอะไรบางอย่างที่กิ่งไม้นั้น จากนั้นก็ปล่อยกิ่งไม้คืนกลับไป จากนั้นจึงเดินต่อไปจนถึงประตูบ้าน ภรรยาของเขาเปิดประตูบ้านออกต้อนรับ สิ่งที่นายจ้างใจดีสัมผัสได้ในขณะนั้นก็คือ สีหน้าช่างไม้ที่หมองหม่น กังวล ไม่สดใส เมื่อตะกี้นี้หายไปสิ้น เขาร่าเริง ยิ้มร่า ทักทายลูกและภรรยาอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส หยอกล้อกับลูกและภรรยาอย่างมีความสุข...เกิดอะไรขึ้น นายจ้างใจดีอดสงสัยไม่ได้

ได้เวลาสมควรนายจ้างใจดีก็ลากลับ ช่างไม้เดินออกมาส่งที่รถ ซึ่งก็จะต้องเดินผ่านต้นไม้ใหญ่ต้นนั้น ผู้เป็นนายจ้างจึงอดความสงสัยไว้ไม่ได้ จึงถามช่างไม้ว่า เมื่อตอนที่คุณมาถึง ทำไมคุณต้องหยุดและทำอะไรที่ต้นไม้ แล้วทำไมเวลาคุณเข้าบ้านคุณถึงเปลี่ยนเป็นคนละคน ผิดไปจากตอนที่เรานั่งรถมาด้วยกัน ช่างไม้ตอบว่า อ๋อ...ต้นไม้นี้เป็นต้นไม้ปัญหาของผมครับ ในทุก ๆ วันที่ผมออกจากบ้านไปทำงานนั้น ผมจะเจอปัญหาต่างๆมากมายเป็นประจำ แต่ปัญหาเหล่านั้นไม่ใช่ปัญหาของครอบครัว ผมจะไม่นำปัญหาพวกนี้เข้าไปในบ้านด้วย ผมก็จะแขวนปัญหาพวกนี้ไว้ที่ต้นไม้ พอเช้าวันรุ่งขึ้น เวลาจะไปทำงาน ผมก็จะไปเอาปัญหาที่ฝากแขวนไว้บนต้นไม้คืนกลับมา แต่ท่านเชื่อไหมครับ ทุกเช้าที่ผมไปเอาปัญหาคืนกลับมานั้น ปัญหาที่ว่าหนักหนาสาหัส ดูเบาขึ้น ไม่ได้หนักหนาเลยครับ

ประเด็นการเรียนรู้จึงอยู่ที่ว่า ในการทำงานนั้น ทุกคนต้องพบเจอปัญหาต่างๆมากมาย แต่ไม่ว่าจะพบเจอปัญหาแบบไหน ปัญหาทุกๆอย่างนั้นเิกิดขึ้นได้ แต่ก็แก้ไขได้เสมอเช่นกัน เราจึงควรรู้จักการปล่อยวางปัญหาลงบ้าง ซึ่งก็จะดีทั้งกับตัวเองและคนอื่นๆ ที่อยู่รอบข้าง...

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

** "ควรรู้" หรือ "ต้องรู้"

เด็กหนุ่มคนหนึ่ง...เป็นชาวสงขลา...เรียนเก่งมาก...สอบชิงทุนได้ไปเรียนอเมริกา...ตั้งแต่เด็กๆ...จนจบด็อกเตอร์...จึงกลับมาเยี่ยมบ้าน...บ้านของเด็กหนุ่ม...อยู่อีกฟากหนึ่ง...ของทะเลสาบสงขลา...ต้องนั่งเรือแจว...ข้ามไป..ใช้เวลาแจวประมาณหนึ่งชั่วโมง...

ชายหนุ่ม เรือที่ติดเครื่องยนต์...ไม่มีเหรอ...ลุง...?
ชายชรา
ไม่มีหรอกหลาน...ที่นี่มันบ้านนอก...มันห่างไกลความเจริญ...มีแต่เรือแจว...
ชายหนุ่ม โอ...ล้าสมัยมากเลยนะลุง...โบราณมาก...ที่อเมริกา....เขาใช้เครื่องบินกันแล้วลุง...

ลุงยังมานั่งแจวเรืออยู่อีก...ไปส่งผมฝั่งโน้น...เอาเท่าไร...ลุง...?
ชายชรา 80 บาท...
ชายหนุ่ม OK...ไปเลยลุง....
ในขณะที่ลุงแจวเรือ...หนุ่มนักเรียนนอก...ก็เล่าเรื่องความทันสมัย...ความก้าวหน้า...ความศิวิไลช์...ของอเมริกาให้ลุงฟัง... เมืองไทย...เมื่อเทียบกับอเมริกาแล้ว...ล้าสมัยมาก... ไม่รู้คนไทย...อยู่กันได้ยังไง...? ทำไมไม่พัฒนา...ทำไมไม่ทำตามเขา...เลียนแบบเขาให้ทัน...?
ชายหนุ่มถาม ลุง...ลุงใช้คอมพิวเตอร์...ใช้อินเตอร์เน็ต...เป็นไหม...?
ชายชรา ลุงไม่รู้หรอก...ใช้ไม่เป็น...
ชายหนุ่ม โอ้โฮ...ถ้าลุงไม่รู้เรื่องนี้น่ะ....ชีวิตลุงหายไปแล้ว...25 %...แล้วลุงรู้ไหมว่า...เศรษฐกิจของโลก...ตอนนี้เป็นยังไง..?
ชายชรา ลุงไม่รู้หรอก...
ชายหนุ่ม ถ้าลุงไม่รู้เรื่องนี้นะ...ชีวิตของลุงหายไปอีก 25% เป็น...50 %...แล้วละลุง...แล้วลุงรู้เรื่องนโยบายการค้าโลกไหม...เรื่องดาวเทียม ลุงรู้ไหม...ลุง...?
ชายชรา ลุงไม่รู้หรอก...หลานเอ๊ย..ชีวิตของลุง...วันๆหนึ่ง ลุงรู้อยู่อย่างเดียว...ว่าจะทำยังไง...ถึงจะแจวเรือให้ถึงฝั่งโน้น...เท่านั้นแหละ
ชายหนุ่ม โอว..ถ้าลุงไม่รู้เรื่องพวกนี้...ชีวิตของลุง...หายไปแล้วไม่ต่ำกว่า...75 % แล้วละ
พอดีช่วงนั้น...เกิดลมพายุพัดมาอย่างแรง...มีคลื่นลูกใหญ่มาก...ท้องฟ้ามืดครึ้มลงอย่างรวดเร็ว....ชายชรามองรอบข้างอย่างกังวล ก่อนจะเอ่ยถามชายหนุ่มว่า
นี่พ่อหนุ่ม...พ่อหนุ่มเรียนหนังสือมาเยอะ...จบดอกเตอร์จากต่างประเทศ...ลุงอยากถามอะไรสักหน่อยได้ไหม...?

ได้ซิลุง...จะถามอะไรหรือลุง...อย่าหาว่าผมขี้คุย ผมว่าผมตอบคำถามที่ลุงสงสัยได้หมด?
ชายชราเอ็งว่ายน้ำเป็นไหม...?
ชายหนุ่ม เอ้อๆๆ..คือว่าเรื่องนี้ ผมว่ายน้ำไม่เป็นครับ...ลุง....
ชายชรา โอ...ถ้างั้นพ่อหนุ่ม..ชีวิตของเอ็ง...กำลังจะหายไป 100 % ....แล้วล่ะ

ในโลกนี้มีสิ่งให้เราได้เรียนรู้อยู่มากมาย แต่เราคงต้องเลือกที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ ก่อนสิ่งที่ควรจะรู้”…โดยความสามารถของเทคโนโลยีทุกวันนี้ โลกและจักรวาลอยู่แค่เพียงปลายนิ้วบนแป้นคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ เราสามารถรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นอีกมุมหนึ่งของโลก ในเวลาเดียวกันกับที่สิ่งนั้นเกิดขึ้น ทำให้เรียนรู้เข้าใจได้ทั้งโลกและจักวาล แต่สิ่งน่าแปลก คือ เราเรียนรู้และเข้าใจในตนเองมากน้อยเพียงใด เรารู้จักตนเองดีพอแล้วหรือไม่ ที่จะตอบตนเองได้ว่า “เราจะต้องรู้อะไร?” ไม่ใช่ "ควรจะรู้อะไร?"


วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

** เรื่องของ John Stephen Akhwari


ถ้าพูดถึง John Stephen Akhwari ใน 100 คน นอกจากคนในวงการกีฬาโอลิมปิคเพียง 1 คนแล้ว อีก 99 คน น่าจะไม่รู้จักเขาเลย ว่าเขาเป็นใคร? มาจากที่ใด สำัคัญอย่างไร? มีดีอะไร? ที่จะคู่ควรให้คนกล่าวถึง

ย้อนหลังไป ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค วันที่ 20 ตุลาคม 1968 ที่กรุงแม๊กซิโก ในครั้งนั้น กล่าวได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จักเขาJohn Stephen Akhwari เรื่องของเขาได้รับความสนใจโด่งดังไปทั่วโลก แต่ไม่ใช่ในฐานะนักกีฬาผู้มีความสามารถยอดเยี่ยมใดๆ ตรงกันข้ามในการแข่งขันครั้งนั้น เขาไม่ได้รับเหรียญรางวัลใดๆแม้แต่เหรียญเดียวด้วยซ้ำ แต่ชื่อของเขากลับเป็นที่รู้จักและได้รับการยกย่องยิ่งกว่านักกีฬารางวัลเหรียญทอง เงิน ทองแดง ทุกๆคนในปีนั้นเสียอีก ต่อมา เขาก็ได้รับเชิญให้ไปเป็นนักกีฬาผู้ทรงเกียรติในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และล่าสุดเรื่องราวของเขาก็มาปรากฏอีกครั้งหนึ่ง ภาพยนต์ของเพลงที่ใช้ประกอบในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา
โอลิมปิคที่กรุงปักกิ่งในปี 2008

John Stephen Akhwari เป็นเพียงนักกีฬาวิ่งแข่งขันมาราธอนระยะ 40 กิโลเมตร ตัวแทนทีมชาติแทนซาเนีย ในช่วงเริ่มต้นของการแข่งขัน เขาประสบอุบัติเหตุ หกล้มและบาดเจ็บ มีบาดแผลฉีกที่บริเวณหัวเข่า มีเลือดไหลเป็นทาง และเจ็บปวดที่หัวเข่าอย่างมาก ในสภาพนั้นเขาควรจะยอมแพ้และถอนตัวออกจากการแข่งขัน ซึ่งก็คงไม่มีใครกล่าวว่าอะไรเขา แต่ Akhwari ตัดสินใจวิ่งแข่งขันต่อไป ทั้งๆที่ขากระโผลกกระเผลก แม้แต่จะเดินก็ยังไม่ค่อยถนัด และยังเหลือระยะทางอีกหลายสิบกิโลเมตร

ตอนนั้นเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว เขากึ่งเดิน กึ่งวิ่งไปตลอดระยะทาง ใบหน้าแสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดของบาดแผลอย่างเห็นได้ชัด แต่ในที่สุดเขาก็วิ่ง(กระโผลกกระเผลกมากว่า)เข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้ายของนักวิ่งมาราธอน เป็นลำดับที่ 57 จาก 74 คน เพราะนักกีฬา 17 คนขอถอนตัวจากการแข่งขัน โดยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ Akhwari เข้าเส้นชัยในสภาพที่หัวเข่าผูกผ้าพันแผลเอาไว้ และเป็นเวลาหลังจากที่มีการประกาศให้รางวัลเหรียญทองกับนักกีฬาวิ่งมาราธอน ที่วิ่งเข้าเส้นชัยคนแรกไปแล้วเกือบ 2 ชั่วโมง ผู้ชมในสนามกีฬาขณะนั้นก็ยังอยู่กันนับพันคน ทั้งๆที่ปกติแล้วทุกคนควรจะเดินทางกลับบ้านไปนานแล้ว แต่พวกเขากลับยังอยู่ ให้กำลังใจกับ Akhwari อย่างใจจดใจจ่อและเอาใจช่วย เมื่อ Akhwari ปรากฏตัวเข้ามาในสนามในระยะสุดท้ายของการแข่งขันเพื่อวิ่งเข้าเส้นชัยนั้น แต่ละย่างก้าวของเขาดูเชื่องช้า ยาวนาน ผู้คนทั้งสนามส่งเสียงเชียร์และปรบมือให้กำลังใจกับ Akhwari จนกระทั่ง Akhwari วิ่งเข้าเส้นชัยได้สำเร็จ เขาก็ล้มลงในอ้อมกอดหมอและพยาบาลที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว

หลังการแข่งขันในวันต่อมา นักข่าวไปสัมภาษณ์ Akhwari ว่าทำไม..คุณถึงยังวิ่งแข่งขันต่อไป ทั้งๆที่บาดเจ็บขนาดนี้?”

เขาตอบว่า ประเทศของผม(แทนซาเนีย) ส่งผมมา 5,000 ไมล์ มาที่กรุงแม๊กซิโกนี่ ไม่ใช่เพียงแต่
ให้ผมได้ิเริ่มต้นวิ่งในการแข่งขัน แต่ส่งผมมา 5
,000 ไมล์ เพื่อให้ผมวิ่งให้เข้าเส้นชัยสุดท้ายให้ได้ครับ

เรื่องของ John Stephen Akhwari เหมือนการเดินทางในชีวิตของคนเรา บางครั้งก็ต้องเจอปัญหาอุปสรรคแสนสาหัส แต่สิ่งเดียวที่ยังทำให้ยืนหยัดอยู่ได้ จนกระทั่งสามารถก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคใดๆไปได้สำเร็จ คือ ความหวัง ดังนั้น เป็นธรรมดาที่คนเรานั้นจะท้อแท้ได้..บางครั้งก็ผิดหวังได้...แต่ต้องไม่ยอมสิ้นหวังเป็นอันขาด นะครับ


** ความงามของดอกไม้


เด็กหญิงน้อยคนหนึ่ง ถามชายชราที่ดูแลสวนดอกไม้ว่า

คุณลุงขา ทำไมดอกไม้ถึงมีหลายสี

ชายชราผู้ดูแลสวนดอกไม้ตอบว่า
แม่หนูน้อย คนเรายังมีสูงมีต่ำไม่เท่าเทียม นิ้วมือของคนเราก็ยาวไม่เท่ากัน ดอกไม้ก็
ไม่ต่างจากคนหรอกจ๊ะหนู

แล้วทำไมดอกไม้จึงสวยงาม คุณลุงตอบได้ไหมคะเด็กหญิงน้อยซักถามต่อ

ชายชราผู้ดูแลสวนดอกไม้ยิ้มนิดหนึ่งก่อนจะตอบว่า

..ที่งามนั้นมิใช่ดอกไม้หรอกแม่หนูน้อย ความงามมาจากความรู้สึกของหนู ในขณะที่หนูมองมันต่างหาก ความงามของดอกไม้จึงไม่ได้อยู่ที่ตัวดอกไม้ หากแต่อยู่ในตัวของหนูเองต่างหาก ถ้าหากคนเราพูดภาษากับสัตว์อื่นๆได้ สัตว์ต่างๆ คงจะบอกกับเราว่า ความงามของดอกไม้ที่มองเห็นนี่ ไม่เห็นจะงามตรงไหนเลย มนุษย์นี้ช่างโง่เขลาจริง ดอกไม้ก็เป็นเพียงแค่พืชต้นหนึ่งเท่านั้น

แง่คิดจากนิทานเรื่องนี้ คนเรานั้นมีความแตกต่างกันทั้งพันธุกรรมที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและสภาพแวดล้อมที่เจริญเติบโตมา ดังนั้นการที่คนอื่นคิดหรือทำอะไรไม่เหมือนกันกับเรานั้น ไม่ใช่ความผิดของเขาหรือของเรา เพียงแต่ว่าคิดต่างกัน จึงทำให้ทำอะไรต่างกัน ในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถกำจัดความแตกต่างของคนออกไปได้ ตรงกันข้าม คนเราต้องทำงานร่วมกัน อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างนั้น ความงามของดอกไม้เป็นเพียงสิ่งสมมติ ความงามภายในจิตใจของคนเราต่างหากจึงจะเป็นของแท้ ที่ตัดสินความงองามของดอกไม้ เพราะว่าถ้าหากจิตใจภายในของเราหมองมัว หม่นหมองเสียแล้ว ต่อให้มีดอกไม้ที่สวยงามที่สุดในโลกอยู่ตรงหน้า ก็ยังมองไม่เห็นความงดงามของดอกไม้ได้อยู่ดี

จิตใจงามเป็นสวนแห่งมวลพฤกษ์
ความคิดนึกงามเป็นเช่นรากขวัญ
วจีงามเป็นดอกไม้ในสีสัน
กระทำดีคือผลพันธ์อันอุดม

ดังนั้น คิดดี พูดดี และทำดีกันเถอะนะครับ

** ถังน้ำสองใบ


ชายชาวจีนคนหนึ่ง แบกถังน้ำสองใบจากบ้านของเขาไว้บนบ่า เพื่อไปตักน้ำที่ริมลำธาร ถังน้ำใบหนึ่งมีรอยแตก ในขณะที่อีกใบหนึ่งไร้รอยตำหนิใดๆ เขาบรรจุน้ำไว้เต็มถัง แต่ด้วยระยะทางอันยาวไกลจากลำธารกลับมา จึงทำให้น้ำที่อยู่ในถังใบที่มีรอยแตกเหลืออยู่เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ดำเนินมาเป็นเวลา 2 ปีเต็มๆ ที่ชายชาวจีนตักน้ำกลับมาบ้านได้เพียงหนึ่งถังครึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า ถังน้ำใบที่ไม่มีตำหนิจะรู้สึกภาคภูมิใจในผลงานเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน ถังน้ำที่มีรอยแตกก็รู้สึก อับอายต่อความบกพร่องของตัวเอง มันรู้สึกโศกเศร้ากับการที่มันสามารถทำหน้าที่ได้เพียงครึ่งเดียวของจุดประสงค์ที่มันถูกสร้างขึ้นมา
หลังจากเวลา 2 ปีผ่านไป วันหนึ่งที่ข้างลำธาร ถังน้ำที่มีรอยแตกมองตนเองว่าล้มเหลว จึงพูดกับคนตักน้ำอย่างขมขื่นว่าข้ารู้สึกอับอายตัวเองเหลือเกิน เพราะรอยแตกที่ด้านข้างของตัวข้าทำให้น้ำ ที่อยู่ข้างในไหลออกมาตลอดเส้นทางที่กลับไปยังบ้านของท่าน

คนตักน้ำตอบว่าเจ้าเคยสังเกตหรือไม่ว่ามีดอกไม้เบ่งบานอยู่ตลอดเส้นทางในด้านของเจ้า แต่กลับไม่มีดอกไม้อยู่เลยในอีกด้านหนึ่งเลย เพราะข้ารู้ว่าเจ้ามีรอยแตกอยู่ ข้าจึงได้หว่านเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ลงในทางเดินด้านข้างของเจ้า และทุกวันที่เราเดินกลับ เจ้าก็เป็นผู้รดน้ำให้กับเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น นั้นเป็นเวลา 2 ปีมาแล้ว ข้าเก็บดอกไม้สวยๆเหล่านั้นกลับมาบ้าน เอาไปขาย เอามาแต่งโต๊ะกินข้าว ซึ่งถ้าหากไม่มีเจ้าอย่างที่เจ้าเป็นแล้ว ก็คง
ไม่มีดอกไม้ที่ทั้งสวยงามและสร้างรายได้แบบนี้ได้

นิทานเรื่องนี้ คนเราแต่ละคนย่อมมีข้อบกพร่องที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่อย่ายอมให้รอยตำหนิและข้อบกพร่องที่เราแต่ละคนมีนั้น มาทำให้เราเสียกำลังใจที่จะทำคุณงามความดีที่จะเป็นประโยชน์ได้ เพราะบางครั้งสิ่งที่เป็นข้อบกพร่องของเราอาจจะเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อผู้อื่นก็ได้

The Good makes Positive more Positive
The Great makes Zero to Positive
The Greatest makes Negative to Positive

คนเก่งทำบวกให้เป็นบวกยิ่งขึ้น
คนยิ่งใหญ่ทำศูนย์ให้เป็นบวก
คนยิ่งใหญ่ที่สุดทำลบให้เป็นบวก


** ชายชรากับปลาดาว


เช้าวันหนึ่ง ชายหนุ่มคนหนึ่งมายืนอยู่ที่ริมทะลแห่งหนึ่ง เขามองเห็นชราคนหนึ่งก้มๆเงยๆ แล้วก็โยนวัตถุอะไรบางอย่างลงทะเลครั้งแล้วครั้งเล่า เขาจึงเกิดความสงสัยเป็นอย่างมาก จึงเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จึงได้คำตอบ

อ๋อ ปลาดาวนั่นเองชายหนุ่มนึกในใจ แล้วเขาก็มองเห็นปลาดาวจำนวนมาก ที่น้ำทะเลซัดสาดเจ้าปลาดาวน้อยใหญ่ขึ้นมาเกยตื้นบนพื้นหาดเป็นจำนวนมากจนเกือบเต็มชายหาด ชายชรากำลังก้มเก็บปลาดาวบนชายหาดแล้วโยนลงทะเลไปทีละตัวๆ ชายหนุ่มจึงเอ่ยถามชายชราไปว่า
ลุงๆๆ ลุงกำลังทำอะไรอยู่ครับ
ชายชราตอบว่า
ฉันกำลังช่วยชีวิตเจ้าปลาดาวเหล่านี้อยู่ เพราะถ้าขืนปล่อยไว้ เมื่อเวลาสายมันจะถูกแดดเผาจนตาย
ชายหนุ่มมองไปตามชายหาด ก่อนจะพูดขึ้นว่า ลุง..มันจะมีประโยชน์อะไรที่ลุงจะทำแบบนี้ เพราะในวันต่อไป ปลาดาวก็ต้องถูกน้ำซัดขึ้นฝั่งอีกอยู่ดี และปลาดาวที่อยู่บนชายหาดนี้มันก็มากเกินกว่าที่ลุงจะช่วยมันได้ทั้งหมด ยังไงมันก็ต้องถูกแดดเผาตายเป็นจำนวนมากอยู่ดี ผมว่าลุงน่าจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีคุณค่ามากกว่านี้ไม่ดีกว่าหรือ
ชายชรายืดตัวขึ้น เหงื่อผุดขึ้นเต็มใบหน้า มีแววอิดโรยปรากฎอย่างเห็นได้ชัด ก่อนจะเอื้อนเอ่ยบอกว่าชายหนุ่มไปว่า ลุงไม่รู้หรอกนะว่าลุงจะช่วยปลาดาวได้กี่ตัว..แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ลุงช่วยมันได้อีก 1 ตัวแล้วว่าแล้วชายชราก็โยนปลาดาวในมือลงทะเลไปอีก 1 ตัว
นิทานเรื่องนี้บอกเล่าถ่ายทอดกันอยู่ในวงการชาวค่ายอาสาพัฒนามานานหลายปีแล้ว โดยพวกพี่ๆจะเล่าให้รุ่นน้องฟัง โดยมีเจตนาต้องการถ่ายทอดให้รุ่นน้องๆเรียนรู้ว่า
เวลาที่เรามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายรอบตัวเรานั้น เรามักบอกตัวเองและคนรอบๆข้างว่า มันเป็นอย่างนี้เอง สังคมมันเป็น อย่างนี้เอง เราตัวเล็กๆ เราจะไปทำอะไรได้ แล้วเราก็จะมักท้อใจ พยายามจะหาคำอธิบายมาบอกกับตัวเอง เพื่อที่เราจะอยู่ต่อไปได้อย่างสบายใจ หรือ เพื่อจะได้ไม่รู้สึกผิดมากจนเกินไปนัก แต่เราลืมคิดไปว่า...การเริ่มทำอะไรบางอย่างบ้าง แม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยก็ตาม แต่ถ้ามันจะมีประโยชน์อยู่บ้าง ก็ยังดีกว่า เพียงวิพากษ์วิจารณ์แล้วไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย


** ข้อคิดจากเมฆฝน

ในช่วงที่ก่อนฝนจะตก เราจะเห็นเมฆฝนซึ่งตั้งเค้าทมึนดำมืดอยู่บนท้องฟ้า เราก็เรียนรู้ว่าอีกไม่นานก็จะมีฝนตก ก็จะเร่งรีบไปเก็บเสื้อผ้าที่ตากอยู่ ก่อนที่ฝนจะตกลงมาทำให้เสื้อผ้าที่ตากอยู่เปียกหมด การเห็นฝนตั้งเค้าก็คือการมองเห็นโอกาสที่จะเกิดปัญหาก่อนที่จะเกิดปัญหา (ความเสี่ยง) คือผ้าเปียก นั้นคือเรามีการคาดการณ์ล่วงหน้าจากแบบแผน(Pattern) ที่ได้เคยเรียนรู้มาก่อนว่า ถ้าเห็นเมฆตั้งดำทมึนแบบนี้แล้วอีกไม่นานฝนก็จะตก แต่ในทางกลับกัน แม้เราจะคาดการณ์แล้วว่าฝนจะตก แต่ไม่มีผ้าหรืออะไรให้เก็บ หรือถึงผ้าที่ตากไว้จะเปียกก็ไม่เป็นไร นั้นคือ เรามองเห็นปัญหาแล้ว แต่ไม่คิดว่านั้นเป็นปัญหา ก็ไม่ต้องลงมือกระทำอะไรเพื่อแก้ปัญหานั้น

การที่เราจะรู้ว่าอะไรเป็นปัญหาหรือไม่ จะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 2 ประการ คือ การมองเห็นปัญหา และการยอมรับว่านั้นเป็นปัญหา จึงจะนำไปสู่การแก้ไข แต่มีข้อมูลหนึ่งที่น่าตกใจจากรายงานการวิจัย ซึ่งศึกษาสภาพปัญหาในเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งใหญ่และเล็ก อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อค้นหาว่า ปัญหาต่างๆเหล่านั้นมีสาเหตุที่มาจากบุคคล ที่แท้จริงแล้วมาจากอะไร ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ มาจากการมองไม่เห็นปัญหา (ไม่เห็น)การมีความรู้ไม่เพียงพอว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหา(ไม่รู้) และความประมาทที่ทำให้ละเลยกับสิ่งที่เป็นปัญหา (ไม่นึก) จนกระทั่งความเสียหายเกิดขึ้นแล้วจึงยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีบุคคลที่จะเกี่ยวข้องอยู่ 4 ประเภท เปรียบเทียบกับเมฆฝน

1. ส่งเสียงกระหึ่มลั่น แต่ไม่ตก คือคนที่พูดอย่างเดียว เอาแต่วิพากษ์วิจารณ์ พูดให้ดูดี แต่ไม่ลงมือทำอะไร ในสังคมทุกวันนี้ คนกลุ่มนี้จะมีจำนวนมากที่สุด เพราะเป็นวิธีที่ดูเผินๆดูดีและทรงภูมิปัญญา และเข้าตาผู้คนได้ง่ายมากที่สุด นักการเมืองน้ำเน่าจะอยู่ในกลุ่มนี้มาก กล่าวคือคนกลุ่มนี้เขาสามารถให้คำแนะนำสั่งสอน ให้ความเห็นได้ในทุกๆเรื่อง แต่ไม่ค่อยจะได้ลงมือทำอะไรจริงจัง เพราะฉะนั้น อย่าเพียงแต่ฟังเขาพูด ให้ดูสิ่งที่เขาทำด้วย

2. ตก แต่ไม่ส่งเสียงกระหึ่มก่อน คือ คนที่เอาแต่ทำ...ทำ...ทำเท่านั้น แต่ไม่พูดอะไร คนกลุ่มนี้หายากมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆทุกวัน เพราะหมดกำลังใจ ทำดีแต่ไม่รู้จักพูด คุณความดีที่เกิดขึ้น ก็ถูกคนที่รู้จักพูดให้ดูดี แม้ไม่มีผลงานอะไรก็คว้าเอาไปหมด

3. เพียงลอยผ่านไป แต่ไม่ส่งเสียง และก็ไม่ตกด้วย คือ คนที่ไม่พูด ไม่ทำ เอาแต่ลอยไปลอยมา คนกลุ่มนี้กำลังจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บมาจากกลุ่มที่สอง คือลงมือทำไปมากๆแล้ว ไม่ได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ แล้วจะทำต่อไปทำไม ก็สมัครใจใส่ เกียร์ว่าง

4.บางครั้งคำรามกึกก้องด้วย แล้วตกลงมาด้วย คือ คนที่ทั้งพูด และ ทั้งลงมือทำ คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มสร้างประโยชน์ให้กับหน่วยงาน ถ้าหากรักษาสมดุลระหว่างการพูดและการกระทำเอาไว้ได้

ดังนั้นท่านต้องเลือกเองว่าท่านจะเป็นเมฆฝนประเภทไหน แต่อย่างไรก็ตามการตกลงมาของสายฝนก็สร้างความชุ่มช่ำให้ผืนแผ่นดิน และอย่าลืมว่า ฟ้าหลังฝนก็สดใสเสมอ ครับ